ธัมมะธาตุ 7 ปรากฏการณ์สัมบูรณ์ ของสรรพสิ่ง – บทที่ 1 วิทยาศาสตร์-พุทธศาสน์ : นวัตกรรมทางปัญญา ของเผ่าพันธุ์มนุษย์

บทความ / ตำราวิชาการ :
ทฤษฏีเดียว อธิบาย ทุกสรรพสิ่ง The Theory explain Everything.

ธัมมะธาตุ 7 ปรากฏการณ์สัมบูรณ์ ของสรรพสิ่ง
ความจริงสมมุติ กับ ความจริงปรมัตถ์
The 7-Absolute of Everything

โดย สู่ดิน ชาวหินฟ้า – igoodmedia.net (2018)
Last edit. 20 February 2018

อ่าน [บทนำ] – [บทที่ 1] – [บทที่ 2] – [บทที่ 3] – [บทที่ 4] – [บทที่ 5] – [บทที่ 6] – [แสดงความคิดเห็น]
บทความนี้ ทำหน้าที่เชื่อมองค์ความรู้ระหว่าง วิทยาศาสาตร์ (physical sciences) กับพุทธศาสนา โดยอธิบายถึง คุณสมบัติและอาการ ของสรรพสิ่งในจักรวาล ซึ่งมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน และเสื่อมสลายไปสู่แหล่งเดียวกันอย่างไร.
วัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษา ปัจจัยการเกิด การดำรงอยู่ และการดับสลาย ของสังขารธรรมทั้งหลาย (ปรากฏการณ์ ปรัชญา กาลเวลา สรรพสิ่ง) ซึ่งเป็นต้นกำเนิด ของศาสตร์ทุกแขนง. (2) เพื่อเสนอแนวคิดว่า สิ่งลี้ลับในเอกภพ ที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถค้นพบได้นั้น มีอยู่จริง โดยเทียบกับสิ่งที่ พระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสรู้. (3) เพื่อศึกษาว่า คุณสมบัติและอาการ ของวัตถุธาตุต่างๆ ตลอดจน สิ่งมีชีวิต เข้ากันได้กับ คุณสมบัติและอาการ 7 ประการ ของธัมมะธาตุ หรือไม่ อย่างไร.

คุณสมบัติและอาการ 7 ประการ ของธัมมะธาตุ
(1) มวล–อนุภาค (mass–particle)
(2) แรง–พลังงาน–คลื่น (force–energy–wave)
(3) มิติ–กาลอวกาศ–รูปทรง (dimension–spacetime–form)
(4) อุณหภูมิ (temperature)
(5) วัฏจักร–อนันต์ (cycle–infinity)
(6) นามรูป–วิญญาณ–สังขาร (mind and matter–consciousness–corporeality)
(7) วิมุตติ–นิพพาน (integrity liberation | Nibbana).

บทที่ 1

วิทยาศาสตร์ – พุทธศาสน์ :
นวัตกรรมทางปัญญา ของเผ่าพันธุ์มนุษย์

  • พันธกิจของ วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์ [7]
  • สิ่งที่พุทธศาสน์ ค้นพบ อาจเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ กำลังค้นหา
  • ความจริงที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจถูกลบล้างได้ตลอดเวลา แต่ความจริงที่พระตถาคตตรัสรู้ เป็นความจริงแท้ตลอดกาล
[7]
ในบทความนี้ ผู้เขียน ใช้คำว่า พุทธศาสน์ แทนคำว่า พุทธศาสตร์ เพราะ การอ้างอิงใดๆ ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา จะอ้างอิงเฉพาะส่วนที่เป็น พุทธวจน (หมายถึง ศาสนีย์ – คำของพระตถาคต) เท่านั้น.

1.1  พันธกิจของ วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสน์

การพิสูจน์ความจริงใดๆ ด้านวิทยาศาสตร์ จะต้องมีการพิสูจน์ ยืนยันหลักฐาน ในการค้นพบ, ส่วนการบัญญัติสิ่งใดๆ ด้านจิตวิญญาณ จะต้องมี “ผัสสะ” กับสิ่งนั้นมาก่อน. ความจริงด้านวัตถุ สสาร หรือ ความจริงด้านจิตวิญญาณ ต่างก็เป็นความจริงในธรรมชาติ. การศึกษาเรียนรู้ เกี่ยวกับธรรมชาติ ก่อเกิดคำถามมากมาย, สรรพสิ่งเกิดขึ้นได้อย่างไร มาจากที่ใด ดำรงอยู่อย่างไร มีอิทธิพลอะไร ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และดับสลาย. นักวิทยาศาสตร์ จะเป็นผู้ค้นหาคำตอบ สรรพสิ่งที่เป็นวัตถุ สสาร หรือ สิ่งมีชีวิต เช่น วัตถุ พืช สัตว์. ศาสดาของศาสนา จะเป็นผู้ให้คำตอบ ถ้าสิ่งนั้นเกี่ยวกับจิตวิญญาณ หรือ นามธรรม ที่วิทยาศาสตร์เข้าไม่ถึง.

วิทยาศาสตร์ รู้จักสิ่งต่างๆ ที่เป็นสสาร รูปธรรม วัตถุ ธาตุ เท่านั้น. ธาตุต่างๆ ในเอกภพ มีคุณสมบัติแตกต่างกัน และมันสามารถเปลี่ยนสถานะ ระหว่าง สสาร พลังงาน ภายใต้แรงโน้มถ่วง ความดัน และอุณหภูมิ ที่มากระทำต่อมัน ซึ่งมันจะไม่สูญหายไปจากเอกภพ. การเปลี่ยนแปลงนี้ วนเวียน กลับไปกลับมาเป็นวัฏจักร.

มนุษย์เกิดมาแล้ว ย่อมประสบกับ ความแก่ ความเจ็บป่วย และทุกขภาพต่างๆ, วิทยาศาสตร์ ได้ เข้าไปแก้ปัญหาเหล่านี้ให้แก่มนุษย์ เช่น การสร้างภูมิคุ้มกันโรค การประดิษฐ์คิดค้นยารักษาโรค ที่จะทำให้มนุษย์ ไม่แก่ ไม่เจ็บป่วย. วิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆ ยังมุ่งตอบสนองความสุข สะดวก สบาย ให้แก่มนุษย์ ตลอดเวลา. นั่นคือบทบาทของวิทยาศาสตร์ ที่มีต่อมนุษย์ หลังการเกิด. แต่มนุษย์ก็ยังไม่มีความมั่นใจว่า หลังการตาย จะหลีกพ้นจาก ทุคติต่างๆ ได้อย่างไร, ทำให้ลัทธิ ความเชื่อต่างๆ มีโอกาสเข้าไปจัดการกับชีวิตหลังการตาย เพื่อให้ชีวิตหลังการตาย พบกับสุคติ ไม่ต้องไปสู่นรก เดรัจฉาน เปรต.

มีข้อสังเกตว่า วิทยาศาสตร์ แก้ปัญหาหลังการเกิด ในขณะที่ ลัทธิความเชื่อ แก้ปัญหาหลังการตาย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ. เพราะเมื่อมนุษย์เกิดมา ก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย แล้วไปเกิดอีก วนเวียนเช่นนี้ไม่สิ้นสุด. ศาสนาที่มีพระเจ้า (เทวนิยม) ทุกศาสนา ช่วยได้แค่ทำให้ชีวิตหลังการตาย หยุดพักชั่วคราว ในภาวะสุขคติ, แต่หลังจากนั้น ก็ต้องไปเกิดอีก ในภพภูมิที่ไม่สามารถเลือกได้ (มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก เทวดา มาร พรหม). มีเพียงศาสนาพุทธเท่านั้น (อเทวนิยม) ที่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือ ทำอย่างไร มนุษย์ที่เกิดมาแล้ว จะต้องไม่สร้างปัจจัยในการเกิดอีก.

วิทยาศาสตร์ แก้ปัญหา ความแก่ ความเจ็บป่วย และทุกขภาพ
ลัทธิ ความเชื่อ แก้ปัญหา การตาย และหลังการตาย
พุทธศาสน์ แก้ปัญหา การเกิด (ถ้ามีเกิด ก็ต้องมีแก่ มีเจ็บ มีตาย)

พระตถาคต ค้นพบว่า การอุบัติขึ้นของ วิญญาณ นามรูป ผัสสะ คือปัจจัยหรือต้นเหตุของการเกิด. ดังนั้น พุทธศาสน์ จะกล่าวถึง ส่วนที่เป็นรูปวัตถุ ไว้แค่ ภูติรูป – ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น. นอกนั้น มุ่งศึกษา คุณสมบัติและอาการ ของจิตวิญญาณ ในแง่มุมต่างๆ ซึ่งเรียกว่า อุปาทายรูป รวมทั้งคุณสมบัติและอาการของมัน (อาการ ลิงคะ นิมิต อุเทศ). [8] ส่วนด้านวิทยาการ เทคโนโลยี พระองค์จะไม่พูดถึงเลย เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการเกิดแต่อย่างใด.

[8]
“… ดูก่อนอานนท์ ! การบัญญัติซึ่งนามรูป ย่อมมีได้โดยอาศัย อาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ ทั้งหลายเป็นหลัก, เมื่ออาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ เหล่านั้น ไม่มีเสียแล้ว, ผัสสะ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”) …”  พระตถาคต ตรัสแก่พระอานนท์ ที่กัมมาสทัมมนิคม แค้วนกุรุ ในการขยายความ ปฏิจจสมุปบาท “ผัสสะมี เพราะปัจจัยคือนามรูป”. ดู ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์.  โปรแกรมตรวจหาและเทียบเคียง พุทธวจนจากพระไตรปิฎก (E-Tipitaka V3.0.6). หน้า 788. | มหานิทานสูตร มหา. ที. 10/67/58.

ปัจจุบัน นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ค้นพบวัตถุธาตุ ในเอกภพ แค่ร้อยละ 4.6 เท่านั้น อีกกว่าร้อยละ 95 ยังค้นไม่พบ และเรียกมันว่า วัตถุมืด (dark matter) จนกว่าจะพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริง จึงจะกำหนดคำนิยามต่างๆ (ชื่อ ลักษณะ สมบัติ) ให้แก่มันได้. การให้คำนิยามใดๆ แก่สิ่งต่างๆ บนโลก ต้องอาศัย ผัสสะ (contact)  ตากระทบรูปวัตถุ หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส ผิวกายกระทบวัตถุ ใจกระทบอารมณ์ จึงจะบัญญัติ สิ่งใดๆ ได้ นี่คือ กฎพื้นฐานของธรรมชาติ. ยกเว้น สรรพสิ่งที่มีขนาดเล็กมากๆ (เช่น อะตอม) หรือใหญ่มากๆ (เช่น สุริยะ ดาราจักร เอกภพ) ไม่อาจใช้ผัสสะดังกล่าวได้.นักวิทยาศาสตร์ ต้องอาศัย “จินตนาการ” ประกอบทฤษฏีของตนเอง แต่พระตถาคต อาศัย “ญาณ” หรือการหยั่งรู้ ในการอธิบาย โลกธาตุ (เอกภพ) วัตถุ จิตวิญญาณ รวมถึงนิพพาน.

พลังแห่งการหยั่งรู้ ของพระตถาคต ทำให้พระองค์ รอบรู้สรรพสิ่งทั่วเอกภพ ทั้งคุณสมบัติและอาการของ วัตถุธาตุ สัตว์ บุคคล, เหนือกว่าความเร็วแสง ไร้ขอบเขต ไร้กาลเวลา ยิ่งกว่าการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์หลายพันเท่า. เรียกพลังแห่งการหยั่งรู้นี้ว่า สัพพัญญุตญาณ [9] หรือ ตถาคตพลญาณ มี 10 ประการ คือ

(1)  ฐานาฐานญาณ (หยั่งรู้ฐานะและอฐานะ ว่าสิ่งใดมีได้ เป็นได้ หรือมีไม่ได้ เป็นไม่ได้)

(2)  กรรมวิปากญาณ (หยั่งรู้กรรม และวิบาก)

(3)  สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (หยั่งรู้การปฏิบัติ ที่จะนำไปสู่คติ ทุคติ)

(4)  นานาธาตุญาณ (หยั่งรู้เรื่องราวเกี่ยวกับธาตุต่างๆ)

(5)  นานาธิมุตติกญาณ (หยั่งรู้อธิมุติ คือ ฉันทะและอัธยาศัย ของสัตว์ทั้งหลาย)

(6)  อินทริยปโรปริยัตตญาณ (หยั่งรู้ความยิ่งและหย่อน แห่งอินทรีย์ของสัตว์ บุคคล ทั้งหลาย)

(7)  ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ (หยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ่ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิและสมาบัติทั้งหลาย)

(8)  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (หยั่งรู้อดีต ระลึกชาติของตน)

(9)  จุตูปปาตญาณ (หยั่งรู้อนาคต การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม)

(10) อาสวักขยญาณ (หยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย)

[9]
พระองค์ตรัสแก่ พระสารีบุตร ที่ชัฎป่า นอกนครเวสาลี. ดู พุทธประวัติจากพระโอษฐ์.   โปรแกรมตรวจหาและเทียบเคียง พุทธวจนจากพระไตรปิฎก (E-Tipitaka V3.0.6). หน้า 135. | บาลี นิทาน. สํ. 16/33/65., บาลี มหาสีหนาทสูตร มู.ม. 1/140/166. และ
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ (ภาษาบาลี) เล่มที่ 35.   โปรแกรมตรวจหาและเทียบเคียง พุทธวจนจากพระไตรปิฎก (E-Tipitaka V3.0.6). ข้อที่ 800 หน้า 428-430.

บทสรุปทางวิทยาศาสตร์ จะตัองชัดเจน และจับต้องได้. สิ่งที่เป็นนามธรรม ความเชื่อ ความคิด หรือ สิ่งที่อยู่ระหว่าง จินตนาการกับความจริงนั้น จะต้องทำให้ชัดเจน หาตัวชี้วัดให้ได้. วิทยาศาสตร์ ยอมรับจินตาการอยู่บ้าง ถ้าสิ่งนั้นซับซ้อนเกินไป หรือยังไม่มีเครื่องมือที่จะพิสูจน์ได้ ก็จะตั้งเป็นสมมุติฐานไว้ก่อน แล้วค่อยพิสูจน์ภายหลัง, เช่น สสารมืด อนุภาคพระเจ้า. อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein, 1879-1955 CE) นักฟิสิกส์ทฤษฎี ผู้กำเนิดทฤษฎี สัมพัทธภาพพิเศษ และสัมพัทธภาพทั่วไป ยอมรับว่า ทฤษฎีเหล่านั้น มีการใช้จินตนาการมาก่อน และต่อมาได้รับการยืนยัน จนเป็นทฤษฎีอันยิ่งใหญ่.

เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถวัดค่าต่างๆ ของจิตวิญญาณได้, จึงอธิบายไม่ได้ว่า วิญญาณมีมวลหรือไม่ มีสถานะเป็นอนุภาค หรือพลังงาน มีขอบเขตหรือระยะพิกัดอย่างไร. ที่จริง วิญญาณ เป็นสิ่งละเอียดอ่อน ซับซ้อน ลึกซึ้ง ไม่สามารถอธิบาย หรือพิสูจน์ในเชิงรูปธรรมได้. มีเพียงพระตถาคตเท่านั้น ที่อธิบายจิตวิญญาณ ไว้ในหลายๆ แง่มุม เพื่อให้คนเข้าใจในสถานะของมัน. หากวิทยาศาสตร์ พยายามเข้าใจ และเข้าถึงวิญญาณ จำเป็นต้องใช้จินตนาการร่วม ในการสร้างคำนิยาม หรืออธิบาย ด้วยภาษาวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยากในการพิสูจน์อยู่ดี. วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายเกี่ยวกับ จิตวิญญาณ ได้นี้ กลับเป็นข้อดี ที่ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว ในสิ่งที่ไม่ใช่ขอบเขตของวิทยาศาสตร์ ซึ่งยุ่งยากและเป็นไปไม่ได้ ที่จะสร้างเครื่องมือวัด จิตวิญญาณ เพื่อหาข้อยุติ, ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ พุทธศาสน์ เป็นผู้อธิบาย. และในทางกลับกัน, พุทธศาสน์ ก็ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาด้านฟิสิกส์ หรือเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับ วัตถุธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนกับงานของนักวิทยาศาสตร์. นั่นหมายถึงว่า นักวิทยาศาสตร์ จะยอมรับทฤษฏีต่างๆ ของพระตถาคต โดยดุษฎี ในที่สุด.

ศาสดาของลัทธิอื่น และคนทั่วไป เข้าใจจิตวิญญาณ แตกต่างไปจาก พระตถาคต. พระองค์กล่าวถึง วิญญาณ และ นิพพาน ในเชิงนามธรรม อย่างละเอียดหลายแง่มุม เพื่อให้คนเข้าถึงและสัมผัสได้ ด้วยตนเอง. นี่คือเอกสิทธิ์สำหรับ “ตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธะ” เท่านั้น ที่จะเป็นผู้บัญญัติอธิบาย ทั้งหัวข้อและรายเอียดต่างๆ เกี่ยวกับ วิญญาณและนิพพาน, พระสาวก และอนุปสัมบัน ไม่บังควรไปแก้ไข เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง คำบัญญัติ คำอธิบาย ที่มีในพุทธวจน. เพราะทุกถ้อยคำ มาจากการหยั่งรู้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางภูมิปัญญา ที่มนุษย์คนใดในเอกภพ ไม่สามารถทำได้. สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้น ตั้งอยู่บนหลักความจริงแท้ (ปรมัตถธรรม) จริงในทุกสถานที่ จริงในทุกกาลเวลา จริงกับสัตว์ บุคคล ทุกผู้ ที่เข้าถึงธรรม.

นี่คือข้อสรุปว่า การนิยามความจริง ทั้งสองด้าน (สมมุติสัจจะ และ ปรมัตถสัจจะ) เกี่ยวกับจิตวิญญาณ ไม่ใช่หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์, ในทางกลับกัน ความจริงเกี่ยวกับวัตถุมืดทั้งหลาย ที่ซุกซ่อนอยู่ใน มิติ และ กาลอวกาศ ในเอกภพ แต่ก็ไม่ใช่หน้าที่ของพระศาสดา ที่จะต้องประกาศเปิดเผย แม้ว่าพระองค์ทรงรอบรู้ทั้งหมดแล้ว แต่พระองค์มองเห็นว่า ความจริงเหล่านั้น ไม่มีประโยชน์ ไม่ตอบโจทก์ที่จะแก้ปัญหาการเกิดของมนุษย์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง. แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ของนักวิทยาศาสตร์ คือ ความอยากรู้ ในสิ่งที่ยังไม่รู้, พวกเขาจึงคิดค้นเครื่องมือ เทคโนโลยี เพื่อมุ่งค้นหา “ทุกสิ่ง” และพิสูจน์การมีอยู่จริงของมัน ภายใต้กฏเกณฑ์และทฤษฎีต่างๆ มากมาย.

1.2  สิ่งที่พุทธศาสน์ ค้นพบ อาจเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ กำลังค้นหา

การสื่อความหมาย หรือการให้คำนิยามแก่สิ่งใดๆ นักวิทยาศาสตร์ ต้องมีการ ค้นพบ สิ่งนั้นก่อน ซึ่งพระตถาคต เรียกว่า ผัสสะ (contact). ถ้าโลกธาตุนี้ (เอกภพ) ไม่มี ผัสสะ ก็ไม่สามารถกำหนด หรือ บัญญัติ สิ่งใดๆ ได้เลย. วิทยาศาสตร์ ที่ยังไม่สามารถ พิสูจน์ พลังงานและวัตถุธาตุบางอย่าง ที่ซ่อนอยู่ในเอกภพ เช่น อนุภาคคู่แฝดของธาตุต่างๆ ก็คงปล่อยให้เป็น วัตถุมืด หรือ พลังงานมืด ต่อไป. ซึ่งต่างจากพุทธศาสน์, สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเอกภพ ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ เป็นสิ่งที่ พระตถาคต รู้แล้ว. พระองค์ ทรงหยั่งรู้ทุกเรื่อง เหมือนใบไม้สีสปาทั้งต้น แต่ที่พระองค์นำมาสอน แค่ใบไม้ในกำมือเท่านั้น. สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่อยากรู้ เปรียบเหมือน ใบไม้บนต้นสีสปา, และ นักวิทยาศาสตร์ก็โชคร้ายซ้ำ คือ ไม่สนใจ ใบไม้ในกำมือของพระองค์. และนั่นคือ สาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้วิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์ มีข้อจำกัด ไม่อาจเข้าถึงความจริงในด้าน จิตวิญญาณ.

  • พุทธวจน

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำใบไม้สีสปา ที่ร่วงอยู่ตามพื้นดินขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แล้วตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า : 
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายเข้าใจว่าอย่างไร, ใบไม้สีสปาที่เรากำขึ้นหน่อยหนึ่งนี้มาก หรือว่าใบไม้สีสปาที่ยังอยู่บนต้นเหล่านั้นมีมาก ?
 “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ใบไม้ที่พระผู้มีพระภาคทรงกำขึ้นหน่อยหนึ่งนั้นเป็นของน้อย ส่วนใบไม้ที่ยังอยู่บนต้นสีสปาเหล่านั้นย่อมมีมาก”.
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ธรรมะส่วนที่เรารู้ยิ่ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง แล้วไม่กล่าวสอนนั้น มีมากกว่าส่วนที่นำมาสอน. ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุไรเล่า เราจึงไม่กล่าวสอนธรรมะส่วนนั้นๆ ?
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่า ธรรมะส่วนนั้นๆ ไม่ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความดับ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่เป็นเพื่อความรู้พร้อม ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน, ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวสอน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมะอะไรเล่า เป็นธรรมะที่เรากล่าวสอน ? ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมะที่เรากล่าวสอน คือข้อที่ว่า ความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ, เหตุเป็นที่เกิดของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ, ความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ, ข้อปฏิบัติเพื่อถึงความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ .
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุไรเล่า ธรรมะส่วนนี้เราจึงนำมากล่าวสอน ? ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะว่าธรรมะส่วนนี้ ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อความดับ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม เป็นไปเพื่อนิพพาน, เพราะเหตุนั้นแล เราจึงนำมากล่าวสอน.
(สิ่งที่ตรัสรู้ แต่ไม่ทรงนำมาสอน มีมากกว่าที่ทรงนำมาสอน มากนัก – บาลี มหาวาร. สํ. 19/548/1712.)
1.2.1  ความทุกข์ กับ กรรม ในขันธ์-5 เกิดขึ้น เพราะมี ผัสสะ
วัตถุ สสาร เปลี่ยนสถานะ เพราะมี สิ่งอื่นกระทำ

พุทธศาสน์ กล่าวว่า ชีวิตมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์บนโลก ประกอบด้วย องค์ 5 หรือ ขันธ์-5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. การดำเนินชีวิตของมนุษย์ จะขาดขันธ์ใดขันธ์หนึ่งไปไม่ได้ และในบรรดาขันธ์ทั้งห้า, วิญญาณ มีบทบาทมากที่สุด ในการสร้างการเกิด การมีอยู่ การรับรู้ และการกระทำต่างๆ ของมนุษย์. เพราะวิญญาณ คือ ธาตุรู้ เป็นผู้บอกว่า นั่นนี่คือรูป คือเวทนา คือสัญญา คือสังขาร.

สังขารธรรม ที่เป็น สัตว์-ตัวตน-บุคคล มีเจตนา และมีการกระทำ ซึ่งเรียกว่า “กรรม”. กรรม เป็นผลพวงหนึ่ง ของกระบวนการ ขันธ์-5 . ดังนั้น เจตนา กรรม สุข ทุกข์ เกิดขึ้น เพราะมี ผัสสะ เป็นต้นเหตุ. ส่วนสังขารธรรม ที่เป็นวัตถุ สสาร เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งมีเพียงขันธ์เดียว คือ รูป (สสาร), มันจึงไม่ถูกจัดเข้าไปในระบบ ขันธ์-5, มันไม่มี เจตนา ไม่ต้องมีกรรม ไม่ต้องมีสุข-ทุกข์ เหมือนสิ่งมีชีวิต. แต่มันก็ถูก “สิ่งอื่นกระทำ” เช่น คลื่น แรง พลังงาน อุณหภูมิ, จนทำให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงใน คุณสมบัติ อาการ รูปลักษณ์ รูปทรง ตำแหน่ง พิกัด ทำให้มันไม่อาจทนสภาพเดิมได้. หากจะกล่าวว่า ผัสสะ ไม่อาจเกิดขึ้นได้กับ วัตถุ สสาร ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพียงแต่เปลี่ยนคำว่า ผัสสะ เป็น สิ่งอื่นกระทำ ก็จะทำให้ความแตกต่างนั้น ยอมรับกันได้.

เหตุผลเดียวที่พระตถาคต อุบัติขึ้นมาบนโลกมนุษย์ และตรัสรู้ธรรม คือ ต้องการตัดวงจรการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของมนุษย์และสัตว์โลก ที่จะไม่ต้องวนเวียนเกิดตายอีกต่อไป. หลายชีวิตที่เกิดมา ต่างรักสุขเกลียดทุกข์ ด้วยกันทั้งนั้น, แต่ความทุกข์ คือ แก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นทรัพย์สมบัติประจำกาย. ทุกข์มีเพราะ มีการเกิด, ทำอย่างไร ที่จะไม่ต้องเกิดอีกซ้ำซาก. ทุกขภาพ มีความหมาย 2 นัย, ทุกข์ คือ การที่สัตว์-ตัวตน-บุคคล วัตถุ ธัมมะธาตุ ทนสภาพเดิมไม่ได้ กาลเวลาเปลี่ยนไป ทำให้มันทนสภาพเดิมไม่ได้ มันจึงเสื่อมไปเรื่อยๆ (เกิดปรากฏ เสื่อมปรากฏ เมื่อมีอยู่ก็แปรปรวน) ทำให้ตัวตนที่แท้จริงของมัน ไม่มีอยู่จริง (อนัตตา). ความหมายอีกนัยหนึ่ง, ทุกข์ คือ อารมณ์ ความรู้สึก (เวทนา) ของ สัตว์-ตัวตน-บุคคล. เรามักเข้าใจว่า ทุกขภาพ มีลักษณะเป็นลบ คือความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ เพียงด้านเดียว, แท้จริง ทุกขภาพ มีลักษณะเป็นบวกได้ด้วย ทุกข์ ก็คือ สุข เป็นการเหวี่ยงอารมณ์ที่แปรปรวน ไปอีกฝากหนึ่ง (ทุกข์-สุข, สุข-ทุกข์) นั่นเอง.

“กระบวนการ สังขารทั้งหลาย” กล่าวว่า การเรียนรู้ วิทยาการต่างๆ ก็คือ การสั่งสม สังขารทั้งหลาย ลงไปใน นามรูป โดย วิญญาณ เป็นผู้รับรู้ และมีบทบาทหน้าที่ ตลอดทั้งกระบวนการ

ดังนั้น วิทยาการ หรือ ความรู้ ก็คือ นามรูป ที่เป็น สมมุติสัจจะ. มนุษย์เรียนรู้สมมุติสัจจะ เพื่อแก้ปัญหา สุข ทุกข์ ทางกาย. ส่วน สุข ทุกข์ ทางใจ มนุษย์จะต้องก้าวข้าม นามรูป เพื่อเข้าสู่ ปรมัตถสัจจะ ด้วยการ เรียนรู้ ขันธ์ห้า ซึ่งเป็นผลิตผลของ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้ว ละวาง ขันธ์ห้า ให้ได้. องค์ความรู้ ในการละวางขันธ์ห้านี้ เรียกว่า “ปรมัตถปัจจยการ”

  • พุทธวจน

อานนท์ ! ความทุกข์นั้น เรากล่าวว่าเป็นสิ่งที่อาศัยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดขึ้น (เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม).

ความทุกข์นั้น อาศัยปัจจัย อะไรเล่า ? ความทุกข์นั้น อาศัยปัจจัย คือ ผัสสะ, ผู้กล่าวอย่างนี้แล ชื่อว่า กล่าวตรงตามที่เรากล่าว ไม่เป็นการกล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง; แต่เป็นการกล่าวโดยถูกต้อง และสหธรรมิกบางคนที่กล่าวตาม ก็จะไม่พลอยกลายเป็นผู้ควรถูกติไปด้วย.

อานนท์ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมทั้งสี่พวกนั้น :

สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ตนทำเอาด้วยตนเอง, แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดได้;

สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ผู้อื่นทำให้, แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิดมีได้;

สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ตนทำเอาด้วยตนเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย, แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิดมีได้;

ถึงแม้สมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด ย่อมบัญญัติความทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทำเองหรือใครทำให้ก็เกิดขึ้นได้ ก็ตาม, แม้ความทุกข์ที่พวกเขาบัญญัตินั้น ก็ยังต้องอาศัยผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิดมีได้อยู่นั่นเอง.

(เหตุเกิดของ ทุกข์ กับ กรรม – บาลี นิทาน. สํ. 16/40/75.)

ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสน์ จึงวางพันธกิจหลักสำหรับหน้าที่ของมนุษย์ คือ การตัดสายพานของการเกิด (ปฏิจจสมุปบาท), ซึ่งจะทำให้ ผลิตผลของ สายพานการเกิด ซึ่งเรียกว่า ขันธ์-5 นั้น ไม่ต้องกลับมา ต่อภพต่อชาติใหม่ เท่ากับว่า ไม่มีรอบของเกิดอีกต่อไป.

1.2.2   คุณสมบัติและอาการ ของ ความจริงสมมุติ กับ ความจริงแท้

ความจริง เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่เป็น “ความจริง” สองลักษณะ คือ จริงสมมุติ หรือ สมมุติสัจจะ กับ จริงแท้ หรือ ปรมัตถสัจจะ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันสุดขั้ว. พระตถาคต เรียกความจริงสมมุตินั้นว่า สังขตธรรม และเรียกความจริงแท้นั้นว่า อสังขตธรรม. นักวิทยาศาสตร์ มุ่งค้นคว้า ความจริงด้านสมมุติเป็นหลัก นักการศาสนา มุ่งค้นหาความจริงด้านความจริงแท้ เป็นหลัก. พระตถาคต มองความจริงทั้งสองฝั่ง เป็นเหตุเป็นปัจจัย อาศัยซึ่งกันและกันเกิด (ตามหลัก อิทัปปัจจยตา). แม้ว่า นักวิทยาศาสตร์ หรือนักการศาสนาอื่น พยายามจะอธิบาย ความจริงแท้ ที่ตนเองรู้จักและค้นพบ แต่ก็เป็นได้แค่ ความจริงสัมพัทธ์, หมายความว่า ในทัศนะของนักวิทยาศาสตร์ หรือนักการศาสนาอื่น มอง “ความจริงแท้” ในอีกความหมายนึ่ง. ในขณะที่ พระตถาคต มอง “ความจริงแท้” ในอีกความหมายที่ต่างออกไป มีความลึกในการอธิบาย, ไม่มีผู้ใดสามารถอธิบาย “สิ่งสิ่งหนึ่ง” ที่ไม่ปรากฏการเกิด ไม่ปรากฏการเสื่อม และไม่ปรากฏความแปรปรวน ได้ชัดเจนเท่ากับพระตถาคต ซึ่งสิ่งสิ่งนั้น ก็คือ นิพพาน.

  • พุทธวจน

ภิกษุทั้งหลาย ! สังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่. ๓ อย่างอย่างไรเล่า ? ๓ อย่างคือ :- ๑. มีการเกิดปรากฏ (อุปฺปาโท ปญฺายติ); ๒. มีการเสื่อมปรากฏ (วโย ปญฺายติ); ๓. เมื่อตั้งอยู่ก็มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ (ิตสฺส อญฺถตฺตํ ปญฺายติ). ภิกษุทั้งหลาย ! สามอย่างเหล่านี้แล คือ สังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม.
ภิกษุทั้งหลาย ! อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. ๓ อย่างอย่างไรเล่า ? ๓ อย่างคือ :- ๑. ไม่ปรากฏมีการเกิด (น อุปฺปาโท ปญฺายติ); ๒. ไม่ปรากฏมีการเสื่อม (น วโย ปญฺายติ); ๓. เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ (น ิตสฺส อญฺถตฺตํ ปญฺายติ). ภิกษุทั้งหลาย ! สามอย่างเหล่านี้แล คือ อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม.
(สังขตลักษณะ อสังขตลักษณะ – บาลี ติก. อํ. 20/192/486.)

ความจริงสมมุติ ความจริงแท้ ถูกมัดรวมกันไว้ใน ธัมมะธาตุ 7 ซึ่งเป็นทฤษฎีเดียว ที่สามารถอธิบายได้ทุกสรรพสิ่งในจักรวาล โดยไม่จำกัดกาล ภายใต้กฏพื้นฐานที่สุด ของธรรมชาติ (The Basic of Absolute Rule) 6 ข้อ ดังที่อธิบายไว้ใน บทที่ 5

1.3  ความจริงที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจถูกลบล้างได้ตลอดเวลา แต่ความจริงที่พระตถาคตตรัสรู้ เป็นความจริงแท้ตลอดกาล

ความจริงที่ท้าทายนักวิทยาศาสตร์ คือ การค้นหาคำตอบว่า เอกภพเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มนุษย์มีวิวัฒนาการมาอย่างไร ปัจจุบันเอกภพเป็นอยู่อย่างไร และจะดำเนินไปอย่างไรในอนาคต. การกำเนิดของจักรวาล มนุษย์ ถูกเสนอด้วยทฤษฎีมากมาย แต่ก็ยังให้คำตอบไม่ชัดเจน เช่น ทฤษฎีการระเบิดใหญ่ (Big Bang) การระเบิดใหญ่ในจักรวาลได้ถูกเสนอขึ้น จากการสังเกต “การขยายตัวของจักรวาล” และมันก็ยังครองตำแหน่ง ความน่าจะเป็นที่สุดของการกำเนิดจักรวาล.

เมื่อ 13.8 ล้านปีมาแล้ว เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ ใช้เวลาเพียง 10-32 วินาที ก่อเกิดเอกภพอันกว้างใหญ่ ในทันที หลังการระเบิดครั้งใหญ่ จักรวาลเย็นตัวลง แต่ยังไม่มีอนุภาค ไม่มีมวล ไม่มีแสง ใดๆ. จนกระทั่ง เวลาผ่านไป 380,000 ปี ธาตุต่างๆ เพิ่งจะรวมตัวกันเป็นอะตอม และ 300 ล้านปี ผ่านไป เอกภพเริ่มปรากฏ ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์. นักวิทยาศาสตร์เกิดข้อสงสัยต่อไปว่า อะไรทำให้ธาตุต่างๆ รวมตัว มีมวล มีพลังงาน ขึ้นมาได้. ทฤษฎีอนุภาคมูลฐาน ได้สร้าง “แบบจำลองมาตรฐาน” (Standard Model) ขึ้นมา เพื่ออธิบายปรากฏการณ์เหล่านั้น.

สสารทุกชนิดในเอกภพ ประกอบด้วยอนุภาคมูลฐาน 2 ชนิด คือ ควาร์ก (quark) และ เลปตอน (lepton). อนุภาคเหล่านี้มีแรงกระทำ 4 ชนิด คือ แรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงนิวเคลียร์อย่างเข้ม แรงนิวเคลียร์อย่างอ่อน และแรงโน้มถ่วง แรงแต่ละชนิด ต่างมีพาหะของแรง เป็นของตนเอง. แต่แรงพาหะดังกล่าว ก็ยังไม่ได้ถูกค้นพบ จนกระทั่ง องค์กรวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (European Organization for Nuclear Research) หรือ เซิร์น (CERN : Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire) จะสร้างเครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่ (LHC : Large Hadron Collider) ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบอนุภาคฮิกส์ (Higgs boson) เมื่อปี 2012 ซึ่งเป็นอนุภาคสื่อแรง ที่กำลังค้นหาอยู่ และเมื่อพบแล้ว ทำให้แบบจำลองมาตรฐาน (Standard Model) สมบูรณ์ขึ้น.

แต่การทดลองด้านฟิสิกส์ มิเคยหยุดยั้ง นักฟิสิกส์ ตั้งข้อสังเกตว่า อนุภาคทุกตัวจะมีคู่ปฏิอนุภาค (อนุภาคแฝด) ของตัวเอง ซ่อนอยู่ ซึ่งมีมวลและสมบัติเหมือนกันทุกประการ แต่มีประจุไฟฟ้าตรงกันข้าม. อนุภาคใดๆ ที่ซ่อนอยู่ในเอกภพ พวกเขาเรียกมันว่า สสารมืดนั้น คือชิ้นส่วนที่หายไป ของทฤษฎีสรรพสิ่ง (theory of everything) [10]  ทฤษฎีนี้ จะรวมแรงทั้ง 4 ชนิดที่ถูกค้นพบแล้ว ไว้ด้วยกัน แต่แบบจำลองมาตรฐาน ยังไม่สามารถอธิบายชิ้นส่วนที่หายไปนี้ ได้ชัดเจน เว้นแต่ว่าจะเพิ่มอนุภาคมืดเข้าไป.

[10]
ทฤษฎีนี้ ต้องการจะรวมแรงทั้ง 4 ซึ่งจะทำให้นักฟิสิกส์ ค้นพบต้นกำเนิดของเอกภพ, ทฤษฎีธัมมะธาตุ 7 ที่ผู้เขียนนำเสนอ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ การเกิด การดำรงอยู่ การเสื่อม การดับสลาย ของสรรพสิ่งในเอกภพ เท่ากับว่า ทฤษฎีเดียว อธิบายได้ทุกสรรพสิ่ง.กว่า 30 ปี ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า แรงพื้นฐานทั้ง 4 ชนิด เป็นตัวควบคุมเอกภพ. เมื่อปี ค.ศ. 2012 คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวฮังการี ค้นพบอนุภาค ที่มีมวลมากกว่า อิเล็กตรอน 34 เท่า ซึ่งไม่เคยปรากฏในแบบจำลองมาตรฐาน พวกเขาเรียกว่า โฟตอนมืด นั่นหมายถึงว่า มีแรงชนิดที่ 5 ซึ่งเป็นแรงที่นักวิทยาศาสตร์ ไม่เคยรู้จักมาก่อน แฝงตัวอยู่ในเอกภพ.

ทางด้านดาราศาสตร์, นักวิทยาศาสตร์ ต่างระดมกันสร้างยานอวกาศ ออกไปสำรวจอวกาศนอกโลก และระบบสุริยะอย่างต่อเนื่อง เช่น ยานไพโอเนียร์ 10 (1973) ยานไพโอเนียร์ 11 (1974) ยานวอยเอเจอร์ 1 – 2 (1977) ยานยูลิซีส (1992) ยานกาลิเลโอ (1995) ยานแคสสินี-ฮอยเกนส์ (2000) ยานนิวฮอไรซันส์ (2007) ยานจูโน (2016), โดยที่ยานทั้ง 8 ลำ เคยผ่านไปเยือนดาวพฤหัสบดีมาแล้วทั้งสิ้น. เครื่องมือสำคัญ ในการสำรวจอวกาศอีกประเภทหนึ่งคือ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ใช้สำรวจ ดาวเคราะห์อันห่างไกล ดาราจักร และวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ที่ช่วยให้มนุษย์ทำความเข้าใจจักรวาลได้ดีขึ้น เช่น กล้องถ่ายภาพอวกาศ ฮับเบิล (Hubble Space Telescope – 1990) กล้องรังสีแกมมา คอมพ์ตัน (Compton Gamma-ray Observatory – 1991) กล้องรังสีอินฟาเรด สปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope – 2003) กล้องรังสีเอกซ์ จันทรา (Chandra X-ray Observatory) กล้องแสงเลเซอร์ เจมินี กล้องอวกาศเจมส์เวบ กล้องโทรทรรศน์วิทยุอะเรซิโบ (Arecibo Telescope) กล้องโทรทรรศน์ใหม่ๆ ในอนาคต จะเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น และมีความละเอียดเพิ่มขึ้น เพื่อค้นหาสิ่งลี้ลับอันห่างไกลออกไป เช่น เคปเลอร์ (2016)  จะทำหน้าที่ค้นหาดาวเคราะห์เพื่อนบ้าน เพื่อค้นหาเบาะแสของสัญญาณชีวิตนอกระบบ. กล้องอื่นๆ ที่มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันออกไปในอนาคต เช่น กล้องจูเนียร์ (2017) กล้องคีออปส์ (2017) กล้องเทสส์ (2017) กล้องเจมส์เว็บ (2018) กล้องเพลโต้ (2024) กล้องแอตลาสต์ (2025) เป็นต้น.

กล้องโทรทัศน์อวกาศขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ตัวใหม่ ชื่อ ยูคลิด (Euclid space telescope) เตรียมจะถูกปล่อยในปี ค.ศ. 2020 เพื่อทำภารกิจ 6 ปี ในการมองย้อนเวลากลับไป 10,000 ล้านไป และร่างแผนที่ของดาราจักรอีก 2,000 ล้านดาราจักร. ผลที่ตามมาคือ คาดว่าจะมีการค้นพบพลังงานมืด ที่ส่งผลต่อช่วงอายุของเอกภพ ในระยะ 13,800 ล้านปี ที่ผ่านมา. ดาวเทียม TESS (Transisting Exoplanet Survey Sattellite) ส่งออกไปเมื่อปี ค.ศ. 2017 เพื่อสำรวจดาวเคราะห์ ที่โคจรรอบดาวฤกษ์อื่น อย่างน้อย 200,000 ดวง ที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์. นอกจากนี้ อนาคตอันใกล้ องค์การนาซา มีแผนจะปล่อยดาวเทียม CHIPSAT ซึ่งมีขนาดเล็ก เท่าดวงตราไปรษณีย์ เพื่อสำรวจวงแหวนรอบดาวเสาร์ และชั้นเมฆของดาวศุกร์.

กล้องอื่นๆ ต่างทยอยกันออกมาค้นหาสิ่งใหม่ๆ ในเอกภพมากขึ้นทุกวัน เพื่อตอบคำถามว่า สสารมืด เกิดจากอะไร อะไรอยู่ภายในหลุมดำ กระจุกดาราศาสตร์ กำเนิดขึ้นได้อย่างไร อะไรดึงดูดให้ดวงดาวยังโคจรอยู่ในวงแหวนกาแลกซี่ ซึ่งมีแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง มหาศาล ทำไมเอกภพจึงขยายตัว.

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ ใช้ทฤษฎีต่างๆ เพื่อตอบคำถามจากสิ่งลี้ลับ ทั้งในจักรวาล ในโลกมนุษย์ และในโลกควันตัม เช่น กฎอนุรักษ์ (conservation law) หลักสัมพัทธภาพ (principle of relativity) หลักสมดุล (principle of equivalence) แบบจำลอง (paradigm) กรอบอ้างอิงเฉื่อย (inertial reference frame) กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตัน (Newton’ law of gravity) กลศาสตร์ควันตัม (quantum mechanics) กฎแม่เหล็กไฟฟ้าของแม็กซ์เวลล์ (maxewll’s laws of electromagnetism) เป็นต้น. ก่อเกิดการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมากมาย เช่น ในปี ค.ศ.2015 เครื่องเร่งอนุภาค LHC ค้นพบอนุภาคชนิดใหม่ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นอนุภาคสสาร หรืออนุภาคสื่อแรง มันมีมวล 750 GeV/c2 ซึ่งใหญ่กว่าอนุภาค ตามแบบจำลองมาตรฐาน (standard model) [11] และเครื่องตรวจจับคลื่นของโครงการไลโก (LIGO) ค้นพบคลื่นแรงโน้มถ่วง (gravitational waves) เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2015. นอกจากนี้ ในรอบศตวรรษ นักวิทยาศาสตร์ พบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ตลอดจนการกลายพันธุ์ของไวรัส แบคทีเรีย สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคชนิดใหม่.

[11]
Essen Schouboe. (2017). Technology | New particles. SCIENCE  ILLUSTRATED No. 67/2017, January 2017. ทรินิตี้ พับลิชชิ่ง : กรุงเทพมหานคร. p.48 – 53.

ความรู้ทางธรรมชาติเหล่านี้ เป็นพันธกิจของวิทยาศาสตร์ ที่กระทำติดต่อกันมา และจะทำต่อไปในอนาคต จนกว่าจะบรรลุความพอใจ ในความอยากรู้ของมนุษย์. “ศาสตร์” หรือ การค้นพบสิ่งใหม่ๆ ทำให้ทฤษฎีและกฏเกณฑ์เดิมของนักวิทยาศาสตร์ อาจถูกลบล้างด้วยกฎเกณฑ์ใหม่ ที่ทันสมัยกว่า. นี่คือสัจธรรมของวิทยาศาสตร์ ซึ่งต่างจาก สิ่งที่พระตถาคตตรัสรู้. “ศาสน์” คือ สิ่งที่พระองค์ พูดออกมา หรือบัญญัติขึ้น จากการหยั่งรู้ทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ จะรวมเอาหลักการด้านวิทยาศาสตร์ รวมเข้าไปด้วย. พุทธศาสน์ จึงมีความสมบูรณ์จริงแท้ตลอดกาล มีความลึกซึ้ง (คมฺภีรา) เห็นตามได้ยาก (ทุทฺทสา) บรรลุรู้ตามได้ยาก (ทุรนุโพธา) สงบยิ่ง ท่ามกลางความวุ่นวาย (สนฺตา) ประณีต ละเอียด ลุ่มลึก ไปตามลำดับ (ปณีตา) ไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตรรกศาสตร์ หรือ คาดคะเนด้นเดามิได้ (อตกฺกาวจรา) ละเอียดลึก ถึงขั้นนิพพาน (นิปุณา) รู้ได้เฉพาะผู้เป็นบัณฑิต (ปณฺฑิตเวทนียา).[12] และนี่คือ สิ่งยืนยันความจริง ที่พระตถาคตทรงค้นพบ มิใช่เกิดจากการทดลอง การตั้งสมมุติฐาน การพิสูจน์ หรืออาศัยตรรกะใดๆ, แต่เป็นความจริงสัมบูรณ์ ตลอดกาล ไม่ต้องการบัญญัติเพิ่มเติม ตัดต่อ แก้ไขใดๆ อีก แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม.

[12]
สิ่งที่ลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ได้ยาก (1) ด้านฟิสิกส์ ได้แก่ การพิสูจน์สิ่งที่มีขนาดเล็ก ระดับอะตอม และสิ่งที่มีขนาดใหญ่ระดับจักรวาล เช่น ดาราจักร ดาวฤกษ์ หลุมดำ รังสีต่างๆ และเรื่องเกี่ยวกับมิติ กาลอวกาศ เพราะอยู่นอกเหนือประสาทรับสัมผัสของมนุษย์ (2) ด้านจิตวิญญาณ มีความลึกซึ้ง ซับซ้อน เหนือตรรกะ ที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจเข้าใจได้.

(1)  แต่ละคําพูด เป็นอกาลิโก คือ ถูกต้องตรงจริง ไม่จํากัดกาลเวลา.

  • พุทธวจน

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย เป็นผู้ที่เรานําไปแล้วด้วยธรรมนี้ อันเป็นธรรมที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง (สนฺทิฏิโก), เป็นธรรมให้ผลไม่จํากัดกาล (อกาลิโก), เป็นธรรมที่ควรเรียกกันมาดู (เอหิปสฺสิโก), ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว (โอปนยิโก), อันวิญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญู หิ). – (มู. ม. 12/485/451.)

(2)  หลักการต่างๆ นับตั้งแต่วันตรัสรู้ นั้น สอดรับกัน ไม่ขัดแย้งกัน และถูกต้องเสมอ ไม่ว่ายุคกาล จะเปลี่ยนแปลงไป (อกาลิโก).

  • พุทธวจน

ภิกษุทั้งหลาย ! นับตั้งแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จนกระทั่งถึงราตรี ที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ, ตลอดเวลาระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าวสอน พร่ำสอน แสดงออกซึ่งถ้อยคำใด; ถ้อยคำเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเข้ากันได้โดยประการเดียวทั้งสิ้น ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย.
ภิกษุทั้งหลาย ! (อนึ่ง) ตถาคตกล่าวอย่างใด ทำอย่างนั้น, ทำอย่างใด กล่าวอย่างนั้น.
(คำของพระองค์ ตรงเป็นอันเดียวกันหมด – บาลี อิติวุ. ขุ. 25/321/293.)

(3)  ทรงห้ามบัญญัติเพิ่ม หรือตัดทอนสิ่งที่บัญญัติไว้.

  • พุทธวจน

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ จักไม่เพิกถอน สิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว, จักสมาทานศึกษา ในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้ว อย่างเคร่งครัด อยู่เพียงใด, ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น – (มหา. ที. 10/90/70.)

(4)  คำสอนที่ทรงสั่งสอนบ่อยมาก.

  • พุทธวจน

 “พระโคดมผู้เจริญ ! ทรงนำสาวกทั้งหลายไปอย่างไร ? อนึ่ง อนุสาสนีของพระโคดมผู้เจริญ ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก มีส่วนแห่งการจำแนกอย่างไร?”.
อัคคิเวสสนะ ! เราย่อมนำสาวกทั้งหลายไปอย่างนี้, อนึ่ง อนุสาสนีของเรา ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก มีส่วนแห่งการจำแนกอย่างนี้ว่า :
“ภิกษุทั้งหลาย ! รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง. ภิกษุทั้งหลาย ! รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน. สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง; ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน” ดังนี้.
(คำสอนที่ทรงสั่งสอนบ่อยมาก – บาลี มู. ม. 12/423/396.)

(5)  ทรงกําชับให้ศึกษาปฏิบัติ เฉพาะจากคําของพระองค์ (ศาสนีย์) เท่านั้น.

  • พุทธวจน

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก,
เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ส่วนสุตตันตะเหล่าใดที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระว่าเฉพาะเรื่องสุญญตา,
เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.
(เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน – บาลี ทุก. อํ. 20/92/292.)

วิทยาศาสตร์ ค้นพบ และให้คำนิยาม สิ่งใดๆ ตาม “หลักฐาน” ที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว พุทธศาสน์ ค้นพบ และให้คำนิยาม สิ่งใดๆ ตาม “ผัสสะ” ที่ผ่านการรับรู้ของ วิญญาณ และ วิมุตติญาณทัสสนะ

อ่าน [บทนำ] – [บทที่ 1] – [บทที่ 2] – [บทที่ 3] – [บทที่ 4] – [บทที่ 5] – [บทที่ 6] – [แสดงความคิดเห็น]
Fascinated Post Date: 20 กุมภาพันธ์ 2561
รวมเรื่องราวดีๆ รอคุณอยู่ที่ ชุมชน คนคิดดี / บทความ หนังสือ ร้อยกรอง เพลง