อยากได้ คำตอบ อย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า ถามใคร

บทความ
อยากได้ คำตอบ อย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า ถามใคร

i-good-media-6464

โดย สู่ดิน ชาวหินฟ้า, igood media.
รวมเรื่องราวดีๆ รอคุณอยู่ ที่
ชุมชน คนรักดี / บทความ หนังสือ ร้อยกรอง กวี เพลง คำคม คำคิด แง่คิด ชีวิตดี

  • ถ้าต้องการหารายได้ จากบุหรี่ เหล้า แล้วไปถาม นักดื่ม นักสูบ ควรขึ้นราคา ขึ้นภาษี บุหรี่ เหล้า หรือไม่?
  • ถ้าต้องการอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติ แล้วไปถาม นักท่องป่า หรือ พรานล่าเนื้อ ควรปิดป่าหรือไม่ เพื่อให้มันฟื้นฟู?
  • ถ้าต้องการลดปัญหาจราจร ในกรุงเทพมหานคร แล้วไปถาม คนที่มีเงินและมีกำลังซื้อรถ เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีรถยนต์ส่วนตัว หรือไม่?
  • คุณพ่อมีลูกสาว อยู่ชั้นมัธยม ขออนุญาตไปนอนที่บ้านแฟน คุณพ่อจะอนุญาตหรือไม่?

หลายคน คงเดาคำตอบได้ว่า มันจะมีทิศทางไปอย่างใด บางคำถาม บางปัญหา ก็ไม่ควรรอคำตอบ หรือไม่ต้องการคำตอบ และไม่ควรถามด้วยซ้ำไป กรณี การสนับสนุน ให้สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ถ้าไปถาม คนอยากเที่ยว เขาก็ย่อมเห็นด้วย มากกว่าแน่นอน

การเปิดทางให้ภาคธุรกิจ มากกว่า ภาคประชาสังคม มักจะทำให้คนไทยอ่อนแอในระยะยาว เพราะพฤติกรรม ของภาคธุรกิจ มักไปเบียดเบียนกับภาคสังคมมากกว่า. “กำไร” มักสวนทางกับ “น้ำใจ” ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม บางประเด็น ไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าไปแก้ไข อ้างว่าควรทำประชามติก่อน ผู้นำที่มีความกล้าหาญน้อย ก็จะไม่กล้าตัดสินใจ ประชาชนระดับล่าง กลายเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจ

อย่าเอา เรทติ้ง หรือ ความเห็นส่วนใหญ่ ไปตัดสินว่า “ควร” หรือ “ไม่ควร” กับ 4 เรื่องต่อไปนี้

(1) ผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม และ สาธารณะ
(2) การบังคับให้เลือก ศาสนาใด ศาสนาหนึ่ง
(3) การช่วยชีวิตคน อย่างรีบด่วน
(4) การปฏิรูปประเทศ

สิ่งแวดล้อม และ สาธารณะ เป็นทุนทางสังคม
ทุนทางสังคม คือ ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากองค์รวมของสังคม
เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ตามธรรมชาติ
เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นด้วย น้ำมือมนุษย์
เป็นสิ่งที่ใครใคร ก็หยิบฉวยเอามาใช้ได้ทั่วไป
เป็นสิ่งที่เกื้อกูลมนุษยชาติ ให้มีความเป็นอยู่อย่างผาสุก
เป็นสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาล เทียบกับมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ได้
เป็นสิ่งที่อ่อนไหว ต่อการทำลายล้าง และ เมื่อถูกทำลายแล้ว ย่อมหมดไป
เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางนามธรรมสูง สร้างยาก และใช้เวลายาวนาน ในการฟื้นฟู

เสรีภาพ การนับถือ ศาสนา เป็นสิทธิ และ เสรีภาพ ส่วนบุคคล และเป็น สิทธิมนุษยชน เพราะ “ศาสนา” คือ การสร้าง ความมั่นคง และความผาสุก ให้แก่มนุษยชาติ ศาสนาทุกศาสนา ย่อมสอนให้คน เป็นคนดี ศาสนา ไม่ใช่เป็นของบุคคลใด บุคคลหนึ่ง หรือ กลุ่มคนใด กลุ่มคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งสูงสุด ที่ทุกคน ไม่อาจเอาเป็นเจ้าของได้ ตรงกันข้าม คนทุกคนต่างหาก ที่เป็นทรัพย์สมบัติของ ศาสนา. “พระเจ้า” และ “กฏแห่งกรรม” เป็นนายเหนือคนทุกคน และเป็นผู้ชี้ชะตา ให้แก่ สิ่งมีชีวิต ทุกหน่วย ที่เกิดมา บนโลก

การแต่งตั้งผู้นำสูงสุดของศาสนา ก็เช่นกัน หากกระทบกระเทือนต่อ ความบริสุทธิ์ของ พระธรรมวินัย ก็ควรยุติไว้ก่อน เพราะ พระธรรมวินัย เป็นแก่นแท้ของศาสนา ย่อมเป็นสิ่งสูงกว่า ตำแหน่งซึ่งเป็นแค่สัญลักษณ์ และเปลือกนอก

การช่วยชีวิตคน ต้องทำอย่างรีบด่วน (รวมทั้ง ชีวิตสัตว์) แม้บุคคลผู้นั้น จะเป็นคนไม่ดี กฎหมาย บัญญัติไว้ว่า บุคคลที่ สามารถช่วยผู้อื่นได้ แต่ไม่ช่วย ปล่อยให้เขาตาย ก็เข้าข่าย ฆ่าคนตายได้เหมือนกัน ดังนั้น การช่วยชีวิตคนเฉพาะหน้า ต้องรีบทำก่อน ไม่ต้องถาม ไม่ต้องรอฟังความเห็นของใครทั้งสิ้น แม้เขาจะเป็นคนร้าย ก็ต้องช่วยรักษาชีวิตไว้ก่อน ค่อยเอาไปลงโทษภายหลัง

การปฏิรูปประเทศก็เช่นกัน ไม่ต้องรอถามประชาชน ไม่ต้องรอทำประชามติ ว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร และจะทำเมื่อใด การสร้างยุทธศาสตร์ 20 ปี นั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว รัฐบาลต้องรีบทำ และยกระดับความสำคัญให้เท่ากับกฎหมาย ไม่ใช่แค่ นโยบาย เหมือนกันการซ่อมแซมบ้าน พ่อ แม่ ลูก ต้องช่วยกัน อะไรทำได้ก่อน ก็ทำก่อน

เพราะ (1) สิ่งแวดล้อม และ สาธารณะ (2) ศาสนา (3) ชีวิตคน และ (4) การปฏิรูปประเทศ สี่เรื่องนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทุกลำดับเสมอกัน เพราะ มันคือความมั่นคง ของมนุษยชาติ ถ้าปล่อยให้มีการละเมิด เกิดความเสียหาย ความตาย และ หายนะ ก็จะคืบคลานเข้ามาหา “ทุกคน” สี่เรื่องดังกล่าว ไม่ต้องถามว่า ควร ทำ หรือ ไม่ควรทำ แต่ต้องรีบทำ คือ การปกป้อง และ การเสริมสร้าง ต้องทำทันที และทำตลอดเวลา เพื่ออย่างน้อย ก็เป็นสร้าง “สมดุล” ระหว่าง คน 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม “ทำลาย” กับ “กลุ่มสรรสร้าง”

โลกนี้ ยังพอดำรงสภาพอยู่ได้ ถ้ายังมีคน กลุ่มสรรสร้าง* แม้จะมีปริมาณน้อยกว่า ก็ยังดีกว่า ไม่มีคนกลุ่มนี้อยู่เลย
โลกนี้ จะดำรงอยู่ได้อย่างผาสุก ถ้ามีคนกลุ่มสรรสร้าง ในปริมาณมากกว่า ยิ่งมากกว่าเท่าใด ความผาสุก ก็จะยั่งยืน มากเท่านั้น
โลกนี้ จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้นาน ถ้าให้สิทธิ ให้อำนาจ ให้อิทธิพล แก่คน “กลุ่มสร้างสรรค์” มากเกินไป และละเลยต่อคน “กลุ่มสรรสร้าง” แม้จะมีปริมาณ น้อยกว่า (แต่มี “คุณภาพ” มากกว่า)

*สรรสร้าง (creative) ต่างจาก สร้างสรรค์ (creation) คำว่า สร้างสรรค์ คือ การสร้างผลิตผลที่เป็นวัตถุ และเทคโนโลยี เพื่อตอบสนอง ความต้องการ และ ความอยาก ของมนุษย์ (สร้างทุกอย่าง ที่อยากสร้าง แม้กระทั่งอาวุธฆ่ากันเอง) แต่คำว่า “สรรสร้าง” คือ การ “เลือก” ที่จะทำหรือสร้าง ในสิ่งที่ “ควรทำ” รวมถึง การทำลาย ในสิ่งที่เป็นโทษภัย ต่อสาธารณะ และ ปกป้อง ในสิ่งที่เป็นคุณค่า ประโยชน์ ต่อส่วนรวม

คิดให้ดีดี ภูกระดึง เป็นของ คนจังหวัดเลย เท่านั้น ใช่หรือไม่ หรือ เป็นของกลุ่มทุน หรือ เป็นของคนที่เห็นแก่ ความสะดวกสบาย เท่านั้น ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็ปล่อยให้เป็นไป ตามความต้องการ ของคนกลุ่มนั้น และอย่าเอาภาษี ของคนทั้งประเทศ ไปสร้าง ไปก่อ วัตถุที่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวก ทั้งหลายแหล่ รวมทั้ง เป็นค่าบำรุงรักษา ฟื้นฟู ในอนาคตข้างหน้าด้วย ขออภัย ที่พูดเช่นนี้ มันแรงไปหน่อย แต่ถ้ามันแรงพอ ที่จะรักษา อัตลักษณ์ ที่โดดเด่น (เพียงแห่งเดียว ของประเทศไทย) ของภูกระดึงไว้ได้ ก็ยอมละ

ขอตอบคำถาม ไว้ล่วงหน้าตอนนี้เลยว่า ผมยังไม่เคยขึ้นภูกระดึง และผมไม่ใช่คนจังหวัดเลย ผมต้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้า ต่อไปจะมีคนถามว่า ถ้าเขาห้ามผมไม่ให้ขึ้นภูได้หรือไม่ หรือ ห้ามใช้บริการกระเช้าไฟฟ้าไปซะเลย ผมก็จะตอบว่า ผมมีสิทธิ์ที่จะขึ้นภูด้วยลำแข้ง และแรงของผมเอง และถ้าผมจะขอใช้บริการขึ้นกระเช้าไฟฟ้า ผมก็มีสิทธิ์เพราะผม “จ่าย” ค่าบริการนั้น ไม่ได้ขึ้นฟรี ถ้าผมจะขึ้นไปนะ แต่ผมจะไม่ทำเช่นนั้น

แหล่งท่องเที่ยว ในประเทศ มีตั้งมากมาย และมันก็ถูกทึ้ง ถูกดึง ถูกลาก ถูกกระชาก เอาความบริสุทธิ์ ไปเสนอ สนอง นักท่องเที่ยว อยู่ทุกวัน สร้างผลกำไรให้แก่ผู้เกี่ยวข้องตั้งมากมาย ก็ทำไปเถุอะ อย่าเอา “ความอยาก” ของตัวเอง ของกลุ่มตัวเอง ไปทำลาย “อัตลักษณ์” ที่โดดเด่นของ ภูกระดึงเลยนะ … ขอร้อง

Fascinated story Date: 13 มีนาคม 2559

อ่านเรื่องดีๆ จาก: เวทีความคิด สาระ + สนุก + สุภาพ + สมานฉันท์

i-good-media-6464

One comment on «อยากได้ คำตอบ อย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า ถามใคร»

  1. ให้แง่คิดแก่ ผู้ที่ทำหน้าที่ สื่อข่าวสาร ข้อมูลข่าว หรือแหล่งข่าว ขึ้นอยู่กับ ปัจจัย คำถาม ใช่หรือไม่?

Leave a Reply to sudin Cancel reply

Your email address will not be published. *
You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>